เกี่ยวกับมอดินแดงเกมส์

กีฬาบุคลากรสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ครั้งที่ 37
“มอดินแดงเกมส์”

การแข่งขันกีฬาบุคลากรสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาเริ่มขึ้นครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ. 2525 ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เดิมใช้ชื่อว่า การแข่งขันกีฬาบุคลากรทบวงมหาวิทยาลัย โดยความริเริ่มของทบวงมหาวิทยาลัย โดยมีวัตถุประสงค์ในการแข่งขันเพื่อสุขภาพพลานามัยของบุคลากรสังกัดทบวงมหาวิทยาลัย เป็นกีฬาเพื่อความสามัคคี สร้างความสนิทสนมคุ้นเคยกันระหว่างบุคลากรในสังกัดทบวงมหาวิทยาลัย และได้กำหนดให้สถาบันการศึกษาที่สังกัดทบวงมหาวิทยาลัยหมุนเวียนกันเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาดังกล่าว และจัดการแข่งขันอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน โดยมีเจ้าภาพจัดการแข่งขัน ตั้งแต่ครั้งที่ 31 เป็นต้นมาดังนี้

ครั้งที่ ชื่อการแข่งขัน สถาบันเจ้าภาพ จำนวนสถาบัน
ที่เข้าร่วมการแข่งขัน
31 วลัยลักษณ์เกมส์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ 45 สถาบัน
32 บางแสนเกมส์ มหาวิทยาลัยบูรพา 57 สถาบัน
33 อ่างแก้วเกมส์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 68 สถาบัน
34 เกษตรศาสตร์เกมส์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 63 สถาบัน
35 ราชมงคลธัญบุรีเกมส์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี 64 สถาบัน
36 พะเยาเกมส์ มหาวิทยาลัยพะเยา 61 สถาบัน
37 มอดินแดงเกมส์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น  69 สถาบัน

โดยมหาวิทยาลัยขอนแก่นได้ส่งนักกีฬาเข้าร่วมมาตลอด และได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันมาแล้ว 3 ครั้ง (ครั้งที่ 6 ปี พ.ศ. 2530, ครั้งที่ 12 ปี พ.ศ. 2536 ครั้งที่ 14 ปี พ.ศ. 2538) และ ครั้งที่ 37 ปี พ.ศ. 2561 ซึ่งขณะนี้มหาวิทยาลัยขอนแก่นมีความพร้อมทั้งทางด้านบุคลลากร สนามแข่งขัน การคมนาคม ที่พักนักกีฬาและเจ้าหน้าที่ ศูนย์อาหาร โรงพยาบาล ตลอดจนสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ที่สามารถจัดการแข่งขันให้สำเร็จลุล่วง และสร้างความประทับใจแก่ผู้มาเยือน ทั้งนี้มหาวิทยาลัยขอนแก่นคาดว่าจะมีนักกีฬา เจ้าหน้าที่ และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเข้าร่วมการแข่งขันประมาณ 9,000 คน ซึ่งจะสนับสนุนและกระตุ้นเศรษฐกิจของจังหวัดขอนแก่น อีกทางหนึ่งด้วย โดยการแข่งขันฯ ในครั้งนี้ใช้ชื่อในการแข่งขันว่า “มอดินแดงเกมส์” โดยมีกำหนดจัดการแข่งขัน ในระหว่างวันที่ 2 – 9 มิถุนายน 2560 ณ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น

คำขวัญ (SLOGAN)

“ม่วนซื่นแข่งขัน ฮักกันมั่นยืน”

ตราสัญลักษณ์ประจำการแข่งขัน (Official Logo)

ใช้ตราสัญลักษณ์เดียวกันกับการแข่งขันกีฬามหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 41 โดยมีความหมาย ดังนี้
ลายขิด : ได้แรงบันดาลใจจากลายขิดอีสาน ตัดทอนรูปทรง ส่งผ่านถึงอัตลักษณ์และบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์อีสาน อันเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยขอนแก่น สื่อถึงการเล่นกีฬาที่สร้างความสัมพันธ์ ความสนุกสนาน ความรัก และสามัคคี

สีลายขิด : สื่อถึงความหลากหลาย ความร่วมมือร่วมใจ ของแต่ละสถาบัน
ที่เข้าร่วมการแข่งขัน และทั้ง 4 สี ยังเป็นสีเครื่องหมายอัตลักษณ์ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น

ตราสัญลักษณ์ มข. : มีตราสัญลักษณ์มหาวิทยาลัยขอนแก่นอยู่ตรงกลาง ซึ่งเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาบุคลากรสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ครั้งที่ 37 ในครั้งนี้

ผลงาน
นางสาวกนกอร บรรเทพ,นางสาวนิธิตา เหมไพศาลพิพัฒน์,นางสาวธัญวรัตม์ บุญธรรมและนางสาวรินนา พึ่งตาราวี นักศึกษาสาขาวิชาออกแบบนิเทศศิลป์ ชั้นปีที่ 3 คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

หมายเหตุ
“ขิด” เป็นลายชนิดหนึ่ง แสดงถึงอัตลักษณ์และถือเป็นตัวบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ อันเป็นภูมิปัญญาที่ทรงคุณค่าของชนในแถบแถบลุ่มน้ำโขง ถูกถ่ายทอดมาจวบจนถึงปัจจุบัน ดังจะพบเห็นได้ทั่วไปในเครื่องใช้ไม้สอย เช่น หมอน กระติบข้าว แต่ส่วนใหญ่จะพบเห็นใช้เป็นลายทอผ้าไหมหรือผ้าฝ้าย เหตุที่เลือกเอา “ขิด” มาใช้ในครั้งนี้ ก็หมายจะสื่อว่า “มหาวิทยาลัยขอนแก่น” เป็นขุมปัญญาแห่งอีสาน ทำหน้าที่เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาชุมชน สังคม ประเทศชาติ ตลอดจนการพัฒนาภูมิภาคลุ่มน้ำโขงและภูมิภาคอาเซียน “ขิด” จึงเป็นสื่อแทนใจและเป็นส่วนสำคัญที่แสดงถึงความสมัครสมานสามัคคีของชาวอุดมศึกษา

สัญลักษณ์นำโชค (Mascot)

มาสคอตประจำการแข่งขันกีฬาบุคลากรสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ครั้งที่ 37 ในครั้งนี้ เป็นตัวการ์ตูนวัยรุ่นหนุ่มสาวที่ร่างกายแข็งแรงจากการเล่นกีฬาและออกกำลังกาย มีทรงผมคล้ายดอกกัลปพฤกษ์ ซึ่งเป็นดอกไม้และต้นไม้ประจำมหาวิทยาลัยขอนแก่น มีชื่อว่า “พี่มอดินแดง – น้องกัลปพฤกษ์” พี่มอดินแดง ใส่ชุดกีฬาผูกผ้าขาวม้าไหมที่เอว ส่วนน้องกัลปพฤกษ์ใส่เสื้อกีฬา นุ่งกระโปรงไหม และห่มสไบไหม บ่งบอกวัฒนธรรมและเอกลักษณ์การแต่งกายด้วยผ้าไหมของคนภาคอีสาน โดยเฉพาะจังหวัดขอนแก่นที่ได้ชื่อว่า “ศูนย์รวมผ้าไหม” สื่อความหมายว่ามหาวิทยาลัยขอนแก่นยินดีต้อนรับผู้เข้าร่วมการแข่งขันในครั้งนี้ ด้วยความฮักแพง (ความยินดี)

หมายเหตุ
กัลปพฤกษ์เป็นต้นไม้ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตรและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ทรงปลูกพระราชทาน เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนิน ประกอบพิธีเปิดมหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม พุทธศักราช 2510 ต้นกัลปพฤกษ์เป็นต้นไม้ที่มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ ว่า Cassia bakeriana Craib ลักษณะเป็นต้นไม้ขนาดย่อม พุ่มใบแบนกว้าง ดอกสีชมพู เมื่อโรยจะกลายเป็นสีขาว ออกดอกเป็นช่อช่วงฤดูหนาว