เกี่ยวกับมอดินแดงเกมส์
กีฬาบุคลากรสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ครั้งที่ 37
“มอดินแดงเกมส์”
การแข่งขันกีฬาบุคลากรสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาเริ่มขึ้นครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ. 2525 ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เดิมใช้ชื่อว่า การแข่งขันกีฬาบุคลากรทบวงมหาวิทยาลัย โดยความริเริ่มของทบวงมหาวิทยาลัย โดยมีวัตถุประสงค์ในการแข่งขันเพื่อสุขภาพพลานามัยของบุคลากรสังกัดทบวงมหาวิทยาลัย เป็นกีฬาเพื่อความสามัคคี สร้างความสนิทสนมคุ้นเคยกันระหว่างบุคลากรในสังกัดทบวงมหาวิทยาลัย และได้กำหนดให้สถาบันการศึกษาที่สังกัดทบวงมหาวิทยาลัยหมุนเวียนกันเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาดังกล่าว และจัดการแข่งขันอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน โดยมีเจ้าภาพจัดการแข่งขัน ตั้งแต่ครั้งที่ 31 เป็นต้นมาดังนี้
ครั้งที่ | ชื่อการแข่งขัน | สถาบันเจ้าภาพ | จำนวนสถาบัน ที่เข้าร่วมการแข่งขัน |
31 | วลัยลักษณ์เกมส์ | มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ | 45 สถาบัน |
32 | บางแสนเกมส์ | มหาวิทยาลัยบูรพา | 57 สถาบัน |
33 | อ่างแก้วเกมส์ | มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ | 68 สถาบัน |
34 | เกษตรศาสตร์เกมส์ | มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ | 63 สถาบัน |
35 | ราชมงคลธัญบุรีเกมส์ | มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี | 64 สถาบัน |
36 | พะเยาเกมส์ | มหาวิทยาลัยพะเยา | 61 สถาบัน |
37 | มอดินแดงเกมส์ | มหาวิทยาลัยขอนแก่น | 69 สถาบัน |
โดยมหาวิทยาลัยขอนแก่นได้ส่งนักกีฬาเข้าร่วมมาตลอด และได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันมาแล้ว 3 ครั้ง (ครั้งที่ 6 ปี พ.ศ. 2530, ครั้งที่ 12 ปี พ.ศ. 2536 ครั้งที่ 14 ปี พ.ศ. 2538) และ ครั้งที่ 37 ปี พ.ศ. 2561 ซึ่งขณะนี้มหาวิทยาลัยขอนแก่นมีความพร้อมทั้งทางด้านบุคลลากร สนามแข่งขัน การคมนาคม ที่พักนักกีฬาและเจ้าหน้าที่ ศูนย์อาหาร โรงพยาบาล ตลอดจนสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ที่สามารถจัดการแข่งขันให้สำเร็จลุล่วง และสร้างความประทับใจแก่ผู้มาเยือน ทั้งนี้มหาวิทยาลัยขอนแก่นคาดว่าจะมีนักกีฬา เจ้าหน้าที่ และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเข้าร่วมการแข่งขันประมาณ 9,000 คน ซึ่งจะสนับสนุนและกระตุ้นเศรษฐกิจของจังหวัดขอนแก่น อีกทางหนึ่งด้วย โดยการแข่งขันฯ ในครั้งนี้ใช้ชื่อในการแข่งขันว่า “มอดินแดงเกมส์” โดยมีกำหนดจัดการแข่งขัน ในระหว่างวันที่ 2 – 9 มิถุนายน 2560 ณ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น
คำขวัญ (SLOGAN)
“ม่วนซื่นแข่งขัน ฮักกันมั่นยืน”
ตราสัญลักษณ์ประจำการแข่งขัน (Official Logo)
ใช้ตราสัญลักษณ์เดียวกันกับการแข่งขันกีฬามหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 41 โดยมีความหมาย ดังนี้
ลายขิด : ได้แรงบันดาลใจจากลายขิดอีสาน ตัดทอนรูปทรง ส่งผ่านถึงอัตลักษณ์และบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์อีสาน อันเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยขอนแก่น สื่อถึงการเล่นกีฬาที่สร้างความสัมพันธ์ ความสนุกสนาน ความรัก และสามัคคี
สีลายขิด : สื่อถึงความหลากหลาย ความร่วมมือร่วมใจ ของแต่ละสถาบัน
ที่เข้าร่วมการแข่งขัน และทั้ง 4 สี ยังเป็นสีเครื่องหมายอัตลักษณ์ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น
ตราสัญลักษณ์ มข. : มีตราสัญลักษณ์มหาวิทยาลัยขอนแก่นอยู่ตรงกลาง ซึ่งเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาบุคลากรสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ครั้งที่ 37 ในครั้งนี้
ผลงาน
นางสาวกนกอร บรรเทพ,นางสาวนิธิตา เหมไพศาลพิพัฒน์,นางสาวธัญวรัตม์ บุญธรรมและนางสาวรินนา พึ่งตาราวี นักศึกษาสาขาวิชาออกแบบนิเทศศิลป์ ชั้นปีที่ 3 คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
หมายเหตุ
“ขิด” เป็นลายชนิดหนึ่ง แสดงถึงอัตลักษณ์และถือเป็นตัวบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ อันเป็นภูมิปัญญาที่ทรงคุณค่าของชนในแถบแถบลุ่มน้ำโขง ถูกถ่ายทอดมาจวบจนถึงปัจจุบัน ดังจะพบเห็นได้ทั่วไปในเครื่องใช้ไม้สอย เช่น หมอน กระติบข้าว แต่ส่วนใหญ่จะพบเห็นใช้เป็นลายทอผ้าไหมหรือผ้าฝ้าย เหตุที่เลือกเอา “ขิด” มาใช้ในครั้งนี้ ก็หมายจะสื่อว่า “มหาวิทยาลัยขอนแก่น” เป็นขุมปัญญาแห่งอีสาน ทำหน้าที่เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาชุมชน สังคม ประเทศชาติ ตลอดจนการพัฒนาภูมิภาคลุ่มน้ำโขงและภูมิภาคอาเซียน “ขิด” จึงเป็นสื่อแทนใจและเป็นส่วนสำคัญที่แสดงถึงความสมัครสมานสามัคคีของชาวอุดมศึกษา
สัญลักษณ์นำโชค (Mascot)
มาสคอตประจำการแข่งขันกีฬาบุคลากรสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ครั้งที่ 37 ในครั้งนี้ เป็นตัวการ์ตูนวัยรุ่นหนุ่มสาวที่ร่างกายแข็งแรงจากการเล่นกีฬาและออกกำลังกาย มีทรงผมคล้ายดอกกัลปพฤกษ์ ซึ่งเป็นดอกไม้และต้นไม้ประจำมหาวิทยาลัยขอนแก่น มีชื่อว่า “พี่มอดินแดง – น้องกัลปพฤกษ์” พี่มอดินแดง ใส่ชุดกีฬาผูกผ้าขาวม้าไหมที่เอว ส่วนน้องกัลปพฤกษ์ใส่เสื้อกีฬา นุ่งกระโปรงไหม และห่มสไบไหม บ่งบอกวัฒนธรรมและเอกลักษณ์การแต่งกายด้วยผ้าไหมของคนภาคอีสาน โดยเฉพาะจังหวัดขอนแก่นที่ได้ชื่อว่า “ศูนย์รวมผ้าไหม” สื่อความหมายว่ามหาวิทยาลัยขอนแก่นยินดีต้อนรับผู้เข้าร่วมการแข่งขันในครั้งนี้ ด้วยความฮักแพง (ความยินดี)
หมายเหตุ
กัลปพฤกษ์เป็นต้นไม้ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตรและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ทรงปลูกพระราชทาน เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนิน ประกอบพิธีเปิดมหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม พุทธศักราช 2510 ต้นกัลปพฤกษ์เป็นต้นไม้ที่มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ ว่า Cassia bakeriana Craib ลักษณะเป็นต้นไม้ขนาดย่อม พุ่มใบแบนกว้าง ดอกสีชมพู เมื่อโรยจะกลายเป็นสีขาว ออกดอกเป็นช่อช่วงฤดูหนาว